July 09, 2009

มนตรา

โอม มะนี ปัดเม ฮุม

มนตรานี้เป็นหนึ่งในมนตร์ที่ได้รับการสวดภาวนาด้วยความเคารพเทิดทูนมากที่สุดบทหนึ่งในโลก และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นมนตราแห่งพระพุทธะผู้เมตตา องค์พระพุทธะแห่งเมตตานี้เป็นที่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งในนามขององค์กวนอิมในหมู่ชนชาวจีน ในนามองค์เชนเรซิกในชนชาวธิเบต ในนามพระอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤตโบราณแห่งภารตประเทศ หรือองค์แคนนอนในประเทศญี่ปุ่น

มนตราอันปรากฎในพยางค์ ๖ พยาางนี้ดูเรียบและง่ายแก่การท่องบ่น แต่สิ่งอันเรียบง่ายนี้ประกอบไปด้วยพระธรรมคำสอนแห่งพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นับว่าเป็นมนตราอันเป็นหัวใจของธรรมทั้งปวง แม้เพียงความเมตตาเพียงเล็กน้อยที่เราแผ่ออกไปในชีวิตประจำวันของเรา เราย่อมมีความผูกพันเกี่ยวโยงกับพระมหาเมตตาขององค์อวโลกิเตศวรอย่างมิต้องสงสัย
ดังที่ ท่านลามะ โซปา รินโปเช ได้ปรารภไว้แล้วว่า แม้เราภาวนามนตรานี้เพียงคาบเดียว พลังอันบริสุทธิ์แห่งมนตร์จะชำระจิตวิญญาณ ปลดปล่อยความยืดถือในตัวตนและกรรมอันเ็ป็นลบ แม้เพียงการสวดเพียงหนึ่งครั้ง ท่านจะได้รับอานิสงส์ดังหนึ่งว่าได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันนับประมาณมิได้ ดังนั้นจึ่ง
เป็นสิ่งดีงามที่จะได้สวดภาวนามนตรานี้และได้เข้าใจความหมายของพยางค์ทั้งหกด้วย
พยางค์ที่หนึ่งคือ โอม อันประกอบจาก อะ, อุ และ มะ ทั้งสามนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งกาย วาจา และใจ ทั้งที่ยังไม่บริสุทธิ์ของเรา และกาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้วแห่งพระพุทธเจ้า ไม่มีสรรพสัตว์ในกัปกัลป์ใดที่ปราศจากมลทินโทษและมีคุณสมบัติพร้อม นั่นคือกระบวนการที่ำดำเนินมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการชำระ
กาย วาจา ใจ อันไม่บริสุทธิ์ของเราไปสู่สภาวะอันบริสุทธิ์แห่งธรรม

พยางค์ที่ ๒ และ ๓ คือ มณิ อันมีความหมายว่า แก้วอันมีค่า เป็นสัญลักษณ์แห่งปัจจัยของอุปายะ ความรักความเมตตา ความตั้งใจแก่ผู้อื่นเพื่อบรรลุสู่การรู้แจ้ง แม้เพียงการเป็นแก้วที่ทรงค่าก็ย่อมขจัดเสียซึ่งความยากจนและอุปสรรค์ทั้งหลาย เฉกเช่นเดียวกับความปรารถนาอันทรงคุณค่าของสรรพสัตว์และความตั้งใจที่จะมุ่งสู่การตรัสรู้ มิใช่เพียงเพื่อตนเองเท่านั้น หากยังประโยชน์แก่สรรพชีวิตทั้งปวงด้วย ดังที่องค์ดาไล ลามะได้ทรงกล่าวไว้แล้ว
พยางค์ที่ ๔ และ ๕ คือ ปัทเม อันมีความหมายว่า ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาญาณ ดอกบัวนั้นงดงามแต่กลับเกิดมาจากโคลนตมอันเปรอะเปื้อน ฉันใดก็ดี เหมือนดั่งปัญญาซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็จะนำพาเราทั้งหลายออกจากความขัดแย้งทั้งปวง

พยางค์สุดท้าย คือ ฮุม หมายถึง ภาวะที่แ่บ่งแยกมิได้ หรือ ญาณทัศนะอันเป็นเอกภาพของอุปายะและปัญญาเพื่อบรรลุถึงความบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ พยางค์ทั้งหก คือ โอม มณิ ปัทเม ฮุม จึงหมายความถึง การปฏิบัติแห่งมรรคซึ่งประกอบด้วยเอกภาวะแห่งอุปายะและปัญญา เมื่อเราปฏิบัติแล้วก็จักยกจิตวิญญาณของตนให้ล่วงพ้นจากความไม่บริสุทฺธิ์ของกาย วาจา และใจ ขึ้นสู่ความบริสูทธิ์ดังเช่น กาย วาจา และใจแห่งพุทธะ
แต่งและเรียบเรียงโดย Thubten Namdak of LDC, Malaysia.
แปลโดย คุณพงษ์ศักดิ์ พรหมมา